ทฤษฎีพัฒนาการของโรเบิร์ต เจ. ฮาวิกเฮิร์ส
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เจ. ฮาวิกเฮิร์ส (Robert
havighurst 1953-1972 ) ได้ให้ชื่อว่า
งานที่มนุษย์ทุกคนจะต้องทำตามวัยว่า งานพัฒนาการ หมายถึง
งานที่ทุกคนจะต้องทำในแต่ละวัยของ
ชีวิตสัมฤทธ์ผลของงาน พัฒนาการของงานแต่ละวัย
มีความสำคัญเพราะเป็นของการเรียนรู้งานพัฒนาขั้นต่อไป
ตัวแปรที่สำคัญในการพัฒนา
1.วุฒิภาวะทางร่างกาย
2.ความมุ่งหวังของสังคมและกลุ่มที่แต่ละบุคคลเป็นสมาชิกอยู่
3.ค่านิยม แรงจูงใจ ความมุ่งหวังส่วนตัว
3.1 ความพร้อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ( Natural
Readiness Approach )
กลุ่มนี้นี้ความเห็นว่า
ความพร้อมของบุคคลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อถึงวัยหรือเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ดังนั้นในกลุ่มนี้จึงเห็นว่าการทำอะไรก็ตามไม่ควรจะเป็น
“การเร่ง” เพราะการเร่งจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
ตรงกันข้ามอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ ความท้อถอย และความเบื่อหน่าย เป็นต้น
3.2ความพร้อมเกิดจากการกระตุ้น ( Guided
Experience Approach)
กลุ่มนี้มีความเห็นตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือ
เห็นว่า ความพร้อมนั้นสามารถเร่งให้เกิดขึ้นได้ โดยการกระตุ้น การแนะนำ
การจัดประสบการณ์อันจะก่อให้เกิดเป็นความพร้อมได้โดยตรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก ซึ่งจะเป็นวัยที่มีช่วงวิกฤติ (Critical Period)ของการเรียนรู้และการปรับตัวเป็นอย่างมาก
4.สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งที่อยู่รอบตัวบุคคลนั้นๆ
ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต
นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมยังหมายรวมถึงระบบและโครงสร้างต่างๆ
ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น เช่น ระบบครอบครัว ระบบสังคม ระบบวัฒนธรรม เป็นต้น
การแบ่งพัฒนาการของมนุษย์แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ คือ
การแบ่งพัฒนาการของมนุษย์แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ คือ
1.พัฒนาการทางร่างกาย
เป็นการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามขั้นตอนในแต่ละวัน
2.พัฒนาการทางด้านความคิดหรือสติปัญญา (Cognitive
Development) ของเพียเจท์
3.พัฒนาการทางด้านจิตใจ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
3.1
พัฒนาการทางด้านจิตใจ-เพศ (Psychosexual Development) ของฟรอยด์
(Freud)
3.2
พัฒนาการทางด้านจิตใจ-สังคม (Psychosocial Development) ของอีริคสัน
(Erikson)
4. พัฒนาการด้านจริยธรรม (Moral
Development) ของโคลเบริ์ก (Kohlberg)
พัฒนาการตามวัย
ตามความคิดของโรเบิร์ต เจ. ฮาวิกเฮิร์ส
ได้แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็นวัยต่างๆ 6 ช่วงอายุ
ดังนี้
1.วัยเด็กเล็ก-วัยเด็กตอนต้น ( แรกเกิด- 6 ปี )
- เรียนรู้ที่จะเดิน
-เรียนรู้ที่จะรับประทาน
-เรียนรู้ที่จะสร้างความผูกพันตนเองกับพ่อแม่ เป็นต้น
2.วัยเด็กตอนกลาง ( 6-12 ปี )
- เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากันได้กับเพื่อนรุ่นเดียวกัน
- สามารถช่วยตนเองได้
- พัฒนาทักษะพื้นฐานในการอ่าน เขียน
และคำนวณ เป็นต้น
3.วัยรุ่น ( 12-18 ปี
)
- รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
- สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในสังคมได้
- มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมได้
4.วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ( 18-35 ปี )
- มีการเลือกคู่ครอง
- รู้จักจัดการภารกิจในครอบครัว
- รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
- เรียนรู้ที่จะยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
6.วัยชรา
( อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป )
- สามารถรับตัวได้กับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง
- ปรับตัวได้กับการที่ต้องเกษียณอายุตลอดจนเงินเดือนลดลง
ทฤษฎีพัฒนาการทางจิต-สังคม ของอีริคสัน
ได้แบ่งพัฒนาทางบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ความไว้วางใจ
– ความไม่ไว้วางใจ (Trust vs Mistrust)ซึ่งเป็นขั้นในวัยทารก
อีริควันถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการในวัยต่อไป
เด็กวัยทารกจำเป็นจะต้องมีผู้เลี้ยงดูเพราะช่วยตนเองไม่ได้
ผู้เลี้ยงดูจะต้องเอาใจใส่เด็ก ถึงเวลาให้นมก็ควรจะให้และปลดเปลื้องความเดือดร้อน
ไม่สบายของทารกอันเนื่องมาจากการขับถ่าย เป็นต้น
ขั้นที่ 2
ความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ – ความสงสัยไม่แน่ใจตัวเอง (Autonomous
vs Shame and Doubt)อยู่ในวัยอายุ 2-3 ปี
วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเดินได้
สามารถที่จะพูดได้และความเจริญเติบโตของร่ายการช่วยให้เด็กมีความอิสระ
พึ่งตัวเองได้ และมีความอยากรู้อยากเห็น อยากจับต้องสิ่งของต่างๆ
เพื่อต้องการสำรวจว่าคืออะไร เด็กเริ่มที่อยากเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง
ขั้นที่ 3 การเป็นผู้คิดริเริ่ม
– การรู้สึกผิด (Initiative vs Guilt)วัยเด็กอายุประมาณ
3-5 ปี
อีริคสันเรียกวัยนี้ว่าเป็นวัยที่เด็กมีความคิดริเริ่มอยากจะทำอะไรด้วยตนเองจากจินตนาการของตนเอง
การเล่นสำคัญมากสำหรับวัยนี้เพราะเด็กจะได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ
จะสนุกจากการสมมติของต่างๆ เป็นของจริง เช่น อาจจะใช้ลังกระดาษเป็นรถยนต์
ขับรถยนต์เหมือนผู้ใหญ่
ขั้นที่ 4 ความต้องการที่จะทำกิจกรรมอยู่เสมอ
– ความรู้สึกด้อย (Industry vs Inferiority) อีริคสันใช้คำว่า Industry กับเด็กอายุประมาณ 6-12
ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้มีพัฒนาการด้านสติปัญญาและทางด้านร่างกาย
อยู่ในขั้นที่มีความต้องการที่จะอะไรอยู่เมือไม่เคยว่าง
ขั้นที่ 5
อัตภาพหรือการรู้จักว่าตนเองเป็นเอกลักษณ์ – การไม่รู้จักตนเองหรือสับสนในบทบาทในสังคม
(Ego Identity vs Role Confusion)อีริคสันกล่าวว่าเด็กในวัยนี้ที่มีอายุระหว่าง
12-18
ปีจะรู้สึกตนเองว่ามีความเจริญเติบโตโดยเฉพาะทางด้านร่างกายเหมือนกับผู้ใหญ่ทุกอย่างร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
มีการเปลี่ยนแปลงทางเพศทั้งหญิงและชายเด็กวัยรุ่นจะมีความรู้สึกในเรื่องเพศและบางคนเป็นกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขั้นที่ 6
ความใกล้ชิดผูกพัน – ความอ้างว้างตัวคนเดียว (Intimacy
vs Isolation) วัยนี้เป็นวัยผู้ใหญ่ระยะต้น (Young
Adulthood)เป็นวัยที่ทั้งชายและหญิงเริ่มที่จะรู้จักตนเองว่ามีจุดมุ่งหมายในชีวิตอย่างไร
เป็นวัยที่พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศในฐานะเพื่อนสนิทที่จะเสียสละให้กันและกัน
รวมทั้งสามารถยินยอมเห็นใจซึ่งกันและกันโดยไม่เห็นแก่ตัวเลย
และมีความคิดตั้งตนเป็นหลักฐานหรือคิดสนใจที่จะแต่งงานมีบ้านของตนเอง
ขั้นที่ 7 ความเป็นห่วงชนรุ่นหลัง
– ความคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity vs Stagnation)อีริคสันอธิบายคำว่า Generativity ว่าเป็นวัยที่เป็นห่วงเพื่อนร่วมโลกโดยทั่วไป
หรือเป็นห่วงเยาวชนรุ่นหลัง อยากจะให้ความรู้ สั่งสอนคนรุ่นหลังต่อไป
คนที่แต่งงานมีบุตรก็สอนลูกหลายคนที่ไม่แต่งงานถ้าเป็นครูก็สอนลูกศิษย์
ถ้าเป็นนายก็สอนลูกน้อง หรือช่วยทำงานทางด้านศาสนา
เพื่อที่จะปลูกฝังให้คนรุ่นหลังเป็นคนดีต่อไป
ขั้นที่ 8
ความพอใจในตนเอง – ความสิ้นหวังและความไม่พอใจในตนเอง (Ego
Integrity vs Despair)วัยนี้เป็นระยะบั้นปลายของชีวิต
ฉะนั้นบุคลิกภาพของคนวัยนี้มักจะเป็นผลรวมของวัย 7
วัยที่ผ่านมาผู้มีอาวุโสบางท่านยอมรับว่าได้มีชีวิตที่ดีและได้ทำดีที่สุดยอมรับว่าตอนนี้แก่แล้วและจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
จะเป็นนายของตนเองและมีความพอใจในสภาพชีวิตของตน ไม่กลัวความตาย พร้อมที่จะตายยอมรับว่าคนเราเกิดมาแล้วก็จะต้องตาย
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์
พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง
ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้
1.ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motor
Stage) ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี
พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไขว่คว้า
การเคลื่อนไหว การมอง การดู
ในวัยนี้เด็กแสดงออกทางด้านร่างกายให้เห็นว่ามีสติปัญญาด้วยการกระทำ
เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด
เด็กจะต้องมีโอกาสที่จะปะทะกับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการด้านสติปัญญาและความคิดในขั้นนี้
มีความคิดความเข้าใจของเด็กจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น สามารถประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือ
และสายตา เด็กในวัยนี้มักจะทำอะไรซ้ำบ่อยๆ เป็นการเลียนแบบ
พยายามแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก
เมื่อสิ้นสุดระยะนี้เด็กจะมีการแสดงออกของพฤติกรรมอย่างมีจุดมุ่งหมายและสามารถแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนวิธีการต่าง
ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการแต่กิจกรรมการคิดของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่เฉพาะสิ่งที่สามารถสัมผัสได้เท่านั้น
2.ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational
Stage) ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 2-7 ปี แบ่งออกเป็นขั้นย่อยอีก 2
ขั้น คือ
-- ขั้นก่อนเกิดสังกัป (Preconceptual
Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็กอายุ 2-4 ปี
เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีเหตุผลเบื้องต้น สามารถจะโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ 2
เหตุการณ์ หรือมากกว่ามาเป็นเหตุผลเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน
แต่เหตุผลของเด็กวัยนี้ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ เพราะเด็กยังคงยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง
คือถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ และมองไม่เห็นเหตุผลของผู้อื่น
ความคิดและเหตุผลของเด็กวัยนี้ จึงไม่ค่อยถูกต้องตามความเป็นจริงนัก
นอกจากนี้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับเบื้องต้น เช่น
เข้าใจว่าเด็กหญิง 2 คน ชื่อเหมือนกัน จะมีทุกอย่างเหมือนกันหมด
แสดงว่าความคิดรวบยอดของเด็กวัยนี้ยังไม่พัฒนาเต็มที่
แต่พัฒนาการทางภาษาของเด็กเจริญรวดเร็วมาก
-- ขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้
นึกออกเองโดยไม่ใช้เหตุผล (Intuitive Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็ก
อายุ 4-7 ปี ขั้นนี้เด็กจะเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รวมตัวดีขึ้น
รู้จักแยกประเภทและแยกชิ้นส่วนของวัตถุ เข้าใจความหมายของจำนวนเลข
เริ่มมีพัฒนาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ แต่ไม่แจ่มชัดนัก
สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยไม่คิดเตรียมล่วงหน้าไว้ก่อน
รู้จักนำความรู้ในสิ่งหนึ่งไปอธิบายหรือแก้ปัญหาอื่นและสามารถนำเหตุผลทั่วๆ
ไปมาสรุปแก้ปัญหา โดยไม่วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเสียก่อนการคิดหาเหตุผลของเด็กยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตนรับรู้
หรือสัมผัสจากภายนอก
3.ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete
Operation Stage) ขั้นนี้จะเริ่มจากอายุ 7-11 ปี
พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้สามารถสร้างกฎเกณฑ์และตั้งเกณฑ์ในการแบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ได้
เด็กวัยนี้สามารถที่จะเข้าใจเหตุผล รู้จักการแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมได้
สามารถที่จะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความคงตัวของสิ่งต่างๆ
โดยที่เด็กเข้าใจว่าของแข็งหรือของเหลวจำนวนหนึ่งแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปร่างไปก็ยังมีน้ำหนัก
หรือปริมาตรเท่าเดิม สามารถที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของส่วนย่อย ส่วนรวม
ลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้คือ ความสามารถในการคิดย้อนกลับ
นอกจากนั้นความสามารถในการจำของเด็กในช่วงนี้มีประสิทธิภาพขึ้น
สามารถจัดกลุ่มหรือจัดการได้อย่างสมบูรณ์
สามารถสนทนากับบุคคลอื่นและเข้าใจความคิดของผู้อื่นได้ดี
4.ขั้นปฏิบัติการคิดด้วยนามธรรม (Formal
Operational Stage) นี้จะเริ่มจากอายุ 11-15 ปี
ในขั้นนี้พัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้เป็นขั้นสุดยอด
คือเด็กในวัยนี้จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ ความคิดแบบเด็กจะสิ้นสุดลง
เด็กจะสามารถที่จะคิดหาเหตุผลนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีอยู่
สามารถที่จะคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ สามารถที่จะตั้งสมมุติฐานและทฤษฎี
และเห็นว่าความเป็นจริงที่เห็นด้วยการรับรู้ที่สำคัญเท่ากับความคิดกับสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้
เด็กวัยนี้มีความคิดนอกเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบัน
สนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างและมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน
หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมพัฒนาการทางการรู้คิดของเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรกของชีวิต
ซึ่งเพียเจต์ ได้ศึกษาไว้เป็นประสบการณ์ สำคัญที่เด็กควรได้รับการส่งเสริม มี 6
ขั้น ได้แก่
1. ขั้นความรู้แตกต่าง (Absolute
Differences) เด็กเริ่มรับรู้ในความแตกต่างของสิ่งของที่มองเห็น
2. ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม (Opposition)
ขั้นนี้เด็กรู้ว่าของต่างๆ มีลักษณะตรงกันข้ามเป็น 2 ด้าน เช่น
มี-ไม่มี หรือ เล็ก-ใหญ่
3. ขั้นรู้หลายระดับ (Discrete
Degree) เด็กเริ่มรู้จักคิดสิ่งที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างปลายสุดสองปลาย
เช่น ปานกลาง น้อย
4. ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง (Variation)
เด็กสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่น
บอกถึงความเจริญเติบโตของต้นไม้
5. ขั้นรู้ผลของการกระทำ (Function)
ในขั้นนี้เด็กจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลง
6. ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว (Exact
Compensation) เด็กจะรู้ว่าการกระทำให้ของสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลต่ออีกสิ่งหนึ่งอย่างทัดเทียมกัน
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์
ใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) กับคนไข้ที่เป็นอัมพาต
กล่าวคือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ
เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากอัมพาตซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund
Freud) ได้ศึกษาวิเคราะห์จิตใจของมนุษย์ และอธิบายว่า
จิตใจทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund
Freud) แบ่งจิตออกเป็น 3 ระดับดังนี้
1. จิตสำนึกหรือจิตรู้สำนึก (Conscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ได้แก่ การแสดพฤติกรรม เพื่อให้
สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง
2. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่ระลึกถึงได้
รองศาสตราจารย์ กลมรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2528 : 35)ได้กล่าวถึง Subconscious
mind ว่าหมายถึงส่วนของจิตใจ ที่มิได้แสดงออกเป็นพฤติกรรม ในขณะนั้น
แต่ เป็นส่วนที่รู้ตัว สามารถดึงออกมใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เช่น นางสาว ก.
มีน้องสาวคือนางสาว ข. ซึ่งกำลังตกหลุมรัก นาย ค. แต่นางสาว ข.
เกรงว่ามารดาจะทราบความจริงจึงบอกพี่สาว มิให้เล่าให้มารดาฟัง นางสาว ก.
เก็บเรื่องนี้ไว้เป็น ความลับ มิได้แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบโดยเฉพาะมารดาแต่
ในขณะเดียวกันก็ทราบอยู่ตลอดเวลาว่า นางสาว ข. รักนาย ค. ถ้าเขาต้องการเปิดเผย
เขาก็จะบอกได้ทันที ลักขณา สิริวัฒน์ (2530 : 9) กล่าวถึง Subconscious
mind ว่าผลมันเกิด จากการขัดแย้งกันระหว่าง
พฤติกรรมภายใต้อิทธิพลจิตรู้สำนึกกับอิทธิพลของ
จิตใต้สำนึกย่อมก่อให้เกิดการหลอกลวงตัวเองขึ้น ภายในบุคคล
3. จิตไร้สำนึกหรือจิตใต้สำนึก (Unconscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัวระลึกถึงไม่ได้ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์
(2524 : 121) กล่าวว่า จิตไร้สำนึกเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ มีการเก็บกด (Repression)
เอาไว้อาจเป็นเพราะ ถูกบังคับ
หรือไม่สามารถแสดงอาการโต้ตอบได้ในขณะนั้นในที่สุดก็จะฝังแน่นเข้าไป
จนเจ้าตัวลืมไปชั่ว ขณะจะแสดงออกมาในลักษณะการพลั้งเผลอ เช่น พลั้งปากเอ่ยชื่อ
คนรักเก่าต่อหน้า คนรักใหม่ เป็นต้น คณาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2530 : 16) กล่าวว่าสิ่งที่มีอิทธิพล
จูงใจพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนเรามากที่สุดก็คือ
ส่วนที่เป็นจิตใต้สำนึกและสิ่งที่คนเรามัก จะเก็บกดลงไปที่จิตใต้ สำนึก
ก็คือความต้องการก้าวร้าว กับความต้องการทางเพศ ซึ่งจะมีแรงผลักดัน
นอกจากนี้
ฟรอยด์ ยังได้ศึกษาถึง โครงสร้างทางจิต พบว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย
1. อิด (Id) 2. อีโก้ (Ego) 3. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego)
1. อิด (Id) หมายถึงตัณหาหรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ขัดเกลา
ซึ่งทำให้ มนุษย์ทำทุก อย่างเพื่อความพึงพอใจของตนเองหรือทำตามหลักของความพอใจ (Pleasure
principle)
เปรียบเหมือนสันดานดิบของ มนุษย์
ซึ่งแบ่งออกเป็น สัญชาติญาณ แห่งการมีชีวิต (Life instinct) เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหลีกหนีจากอันตราย
กับสัญชาติญาณแห่ง ความตาย (Death instinct) เช่น
ความก้าวร้าว หรือการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น บุคคล
จะแสดงพฤติกรรมตามความพอใจ ของเขาเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงค่านิยมของสังคม และ
ความพอใจของ บุคคลอื่นจึงมักเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามครรลองของมาตรฐานในสังคม
บุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ มักได้รับการประณามว่ามีบุคลิกภาพไม่ดี หรือไม่เหมาะสม
2. อีโก้ (Ego) หมายถึง
ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ Id โดยอาศัยกฎเกณฑ์
ทางสังคม และหลักแห่งความจริง (Reality principle) มาช่วยในการตัดสินใจ
ไม่ใช่แสดงออกตามความ พอใจของตนแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุผลด้วยนั่นคือบุคคลจะแสดงพฤติกรรม โดยมีเหตุและผล
ที่เหมาะสมกับกาลเทศะใน สังคม จึงเป็นบุคลิกภาพที่ได้รับการยอมรับมากในสังคม
ในคนปรกติที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข ฟรอยด์
เชื่อว่าเป็นเพราะมีโครงสร้าง ส่วนนี้แข็งแรง
3. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) หมายถึง
มโนธรรมหรือจิตส่วนที่ได้รับการพัฒนาจากประสบการณ์ การอบรมสั่งสอน โดยอาศัยหลักของศีลธรรมจรรยา
ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ ใน สังคมนั้น Superego จะเป็นตัวบังคับ และควบคุมความคิดให้แสดงออกในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของ
สังคม โดยยึดหลักค่านิยมของสังคม (Value principle) ที่ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีในสังคมกล่าวคือบุคคล
จะแสดงพฤติกรรมตาม ขอบเขตที่สังคมวางไว้ แต่บางครั้งอาจไม่เหมาะ สม เช่น
เมื่อถูกยุงกัดเต็มแขน - ขา ก็ไม่ยอมตบยุง เพราะกลัวบาป
หรือสงสารคนขอทานให้เงินเขาไปจนหมด ในขณะที่ ตนเองหิวข้าวไม่มีเงินจะ
ซื้ออาหารกินก็ยอมทนหิว เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง
3 ระดับจะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม
ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process)เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ ( Instinctual Drives ) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเอง
ไปยังบุคคลอื่น และสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของจิตก่อนสำนึก และจิตสำนึก
จะพัฒนาขึ้นเป็น กระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
ฟรอยด์
ได้อธิบายถึงการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางเพศ (Stage
of Psychosexual Development) จากความเชื่อเกี่ยวกับสัญชาตญาณทางเพศในเด็กทารกที่แสดงออกมาในรูปพลังของ
ลิบิโด (Libido) และสามารถเคลื่อนที่ไปยัง
ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และบริเวณที่พลังลิบิโดไปรวมอยู่เรียกว่า
ที่ของความรู้สึกพึงพอใจ (Erogeneous Zone) เมื่อพลังลิบิโดไปอยู่ในส่วนใดก็จะก่อให้เกิดความตึงเครียด
(Tension) ขึ้นที่ส่วนนั้น วิธีการที่จะขจัดความตึงเครียด
ได้ก็โดยการเร้าหรือกระตุ้นส่วนนั้นอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้เกิดความพึงพอใจ (Gratification)
บริเวณที่พลัง Libido เคลื่อนไปอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ
หรือวัยต่างๆ ของบุคคล จะทำให้เกิดการพัฒนาการไปตาม ขั้นตอนของวัยนั้นๆ
1. ขั้นปาก (Oral Stage) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่บริเวณปาก การได้รับการกระตุ้น
หรือเร้าที่ปากจะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ
ทำให้เด็กตอบสนองความพึงพอใจของตนเองโดยการดูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การดูดนมแม่จึงเป็นความสุข และความพึงพอใจของเขาในขั้นนี้
ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม
มีการดูแลเอาใจใส่ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่จะทำให้เด็ก เกิดความไว้วางใจ
และความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเอง และสภาพแวดล้อม
เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มพัฒนาความรักตัวเอง (Narcissism) แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม
เช่น ถูกปล่อยให้ร้องไห้ เพราะหิวเป็นเวลานานๆ ไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา
และไม่ได้รับการสัมผัสที่อบอุ่นหรือการแสดงความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่
และผู้ใกล้ชิด จะทำให้เด็กพัฒนาความไม่ไว้วางใจ (Distrust) มีความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตนเอง
และเกลียดชังสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการยึดติด (Fixatio) ของพัฒนาการในขั้นปาก
พลัง Libido บางส่วนไม่ได้รับการเร้าอย่างเหมาะสม
จะทำให้การยึดติดอยู่บริเวณปาก และไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
ตามความเหมาะสมของการพัฒนาการในขั้นต่อไป
ก่อให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในขั้นปาก และเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยรุ่นบุคคลก็จะแสดงบุคลิกภาพที่ยึดติดในขั้นปากออกมาในรูปของพฤติกรรมต่างๆ
เช่น การติดสุรา ติดบุหรี่ ยาเสพติด ชอบขบเคี้ยวไม่หยุดปาก ชอบกินของคบเคี้ยวกรอบๆ
กินอาหารแปลกๆ เช่น กินกุ้งเต้น หรือ ชอบพูดจาเยาะเย้ยถากถาง ก้าวร้าว บ้าอำนาจ
พูดจาใส่ร้ายป้ายสีได้โดยขาดความละอาย และชอบทำตัวให้เป็นจุดเด่นในสังคมโดย
วิธีการใช้ปากหรือเสียงดังๆ เป็นต้น
3. ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น (Phallic
Stage) เริ่มตั้งแต่ 3 – 5 ขวบ ในขั้นนี้ Erogenous
Zone จะอยู่ที่อวัยวะเพศ โดยที่เด็กเกิด
ความรู้สึกพึงพอใจกับการจับต้องอวัยวะเพศ
เพราะมีความพึงพอใจทางเพศอยู่ที่ตนเองในระยะแรก ต่อมาในช่วง 4-5 ขวบ พลัง Libido
บางส่วนจะเคลื่อนที่ออกจากตนเองไปรวมอยู่ที่พ่อแม่
ซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเด็ก ทำให้เด็กชายรักใคร่
และหวงแหนแม่จึงเกิดความรู้สึกอิจฉา
และเป็นปรปักษ์กับพ่อในขณะที่เด็กหญิงจะรักใคร่ และหวง แหนพ่อ จึงรู้สึกอิจฉา
และเป็นศัตรูกับแม่ ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นปมออดิปุส (Oedipus
Complex) ในเด็กชาย และปมอีเลคต้า (Electra Complex) ในเด็กหญิงในขั้นนี้นอกจากจะเกิด Oedipus Complex แล้วเด็กชายจะเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าจะถูกตัดอวัยวะเพศ
(Castration Anxiety) เพราะเด็กชายเริ่มมองเห็นความแตกต่างทางร่างกายของเพศชาย
และเพศหญิง ทำให้เด็กชายเกิด จินตนการว่าเด็กหญิงก็มีองคชาต (Penis) แต่ถูกตัดไป จึงเกิดความกังวลไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตนเอง
ทำให้เริ่มเรียนรู้อำนาจของพ่อที่มีเหนือเขา ความรู้สึกเกลียดชัง และเป็น
ปรปักษ์กับพ่อ เพราะต้องการแย่งชิงความรักจากแม่ค่อยๆ หมดไป หันมาเป็นมิตร
และเลียนแบบ (Identification) พ่อจึงเอา (Introject) บทบาททางเพศชายของพ่อมาไว้ในตนเอง ทำให้ปรากฏการณ์ของ Oedipus
Complex หายไป และเด็กจะเลียนแบบบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเองในระยะนี้
Superego ของเด็กจะเริ่มพัฒนาจากการรับเอาค่านิยม คุณธรรม
และบรรทัดฐานทางสังคมของพ่อแม่มาไว้ในตัว ในขณะที่เด็กหญิง นอกจากจะเกิด Electra
Complex แล้ว เด็กหญิงจะเกิดความอิจฉาของ องคชาต (Penis
Envy) ในเด็กชาย และรู้สึกต่ำต้อยที่ตนเองไม่มีองคชาตเหมือนเด็กชาย
เมื่อเกิดปรากฏการณ์ Electra Complex แล้วเด็กหญิงจะรักใคร่
และหวงแหนพ่อในที่เกลียดชัง และรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกับแม่
และเห็นว่าพ่อไม่สามารถให้องคชาตแก่ตนได้
จึงเกิดความรู้สึกว่าแม่เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเอง และแม่ไม่มีองคชาตเช่นกัน
ทำให้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับแม่หันมาเลียนแบบแม่ ทำให้ปมอีเลคตร้าหมดไป
ในขณะที่ส่วนของ Superego เริ่มพัฒนาขึ้นในขั้นนี้
ถ้าพัฒนาการทางบุคลิกภาพเป็นไปด้วยดี
จะทำให้เด็กแสดงบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเองเมื่อโตขึ้น
และมีเจตคติที่ดีในเรื่องเพศ
แต่ถ้าพัฒนาการเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมแล้วจะเกิดการติดตรึงทำให้บุคลิกภาพผิดปกติไป
เช่น ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว(Impotence)ในเพศชาย และมีความรู้สึกเย็นชาเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Frigidity) ในเพศหญิง การรักร่วมเพศ (Homosexuality) หรือชอบอวดอวัยวะเพศ
(Exhibitionism) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น
เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการพัฒนาบุคลิกภาพ พ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูจะมีบทบาทสำคัญ
ที่จะช่วยให้บทบาททางเพศของเด็กเป็นไปด้วยดี
พ่อแม่จึงไม่ควรตำหนิหรือเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป เมื่อเด็กจับต้องอวัยวะเพศของตนในขณะเดียวกันเด็กควรได้รับชี้แจง
และการสั่งสอนเรื่องเพศ ตามความเหมาะสมกับการอยากรู้อยากเห็นของเขา
และพ่อแม่ควรทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงบทบาททางเพศ ให้ความรัก ความอบอุ่น
และความเอาใจใส่แก่เด็ก มีเวลาใกล้ชิดกับเด็ก
ซึ่งทำให้เด็กเรียนรู้ถึงสัมพันธภาพที่ดีในการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศเดียวกัน
และต่างเพศ การให้ข้อมูลทางเพศควรใช้เหตุผล
และค่านิยมของสังคมที่เหมาะสมในการอธิบายเพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีในเรื่องเพศแก่เด็ก
ทำให้เด็กยอมรับความรู้สึกของตนเอง และสามารถแสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมาได้เหมาะสม
กับบทบาททางเพศ ตามบรรทัดฐานของสังคมต่อไป
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) เริ่มตั้งแต่ อายุ 6 – 11 ปี ในขั้นนี้ Erogenous
Zone จะไม่ปรากฏอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ
เสมือนขั้นแฝงของพลัง Libido เป็นระยะพักในเรื่องเพศ
และจินตนาการทางเพศ เด็กจะเริ่มมีชีวิตสังคมภายนอกบ้านมากขึ้นที่จะเรียนรู้
และปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยดังกล่าว
เด็กหากเด็กมีพัฒนาการในวัยต้นๆ
อย่างเหมาะสมในขั้นนี้เด็กจะมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนกลุ่มเดียวกัน
5. ขั้นอวัยวะเพศตอนปลาย (Genital
Stage) เริ่มจาก 12 ขวบเป็นต้นไป ในระยะนี้เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น
ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และวัยชรา โดยมี Erogonous Zone จะมาอยู่ที่อวัยวะเพศ
(Genitel Area) เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลง
ทางร่างกายทั้งหญิง และชายต่างๆ กัน และมีพัฒนาการทางร่างกายตน
มีความสามารถในการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความต้องการตาม
สัญชาตญาณทางเพศอย่างรุนแรง ต้องการเป็นตัวของตัวเอง
ต้องการเป็นอิสระในขณะเดียวกับก็ต้องการได้รับความอบอุ่น
และการดูแลเอาใจใส่ทางจิตใจจากพ่อแม่ เมื่อบุคคลมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์แล้ว
จะเกิดความพึงพอใจทางด้านเพศ มีการแสวงความสุขทางเพศระหว่างชายหญิง บุคคลที่มีการพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างปกติ
ไม่มีการติดตรึง ก็จะสามารถมีชีวิตทางสังคม ที่ถูกต้องเหมาะสมคือมีครอบครัว
และสามารถแสดงบทบาททางเพศ และบทบาทของพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม
จะเห็นได้ว่า
พัฒนาการทางบุคลิกภาพตามความเชื่อของ ฟรอยด์ จะมีความสัมพันธ์กับพลังลิบิโด (Libido)
กับลักษณะทางชีวภาพของบุคคล ที่จะนำไปสู่สภาวะทางสุขภาพจิต
หากการพัฒนาการแต่ละขั้นเป็นไปด้วยความเหมาะสม ก็จะทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพที่ปกติ
แต่ถ้าพัฒนาการแต่ละขั้นเกิดการติดตรึง
จะมีผลทำให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในรูปแบบต่าง เช่น โรคจิตหรือโรคประสาทที่ถือว่า
มีความแปรปรวนในทางบุคลิกภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงห้าปีแรกของชีวิตจะเป็นช่วงการสร้างพื้นฐานทางบุคลิกภาพของบุคคล
ประสบการณ์ที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะนี้อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อบุคลิกภาพของเด็กไปตลอดชีวิต
ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการจัดบรรยากาศของการเลี้ยงดูลูกๆ
ให้เหมาะสมที่จะสร้างพื้นฐาน ทางบุคลิกภาพที่มั่นคง
และเหมาะสมเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์อย่างเต็มที่
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ เจอร์โรม
บรูเนอร์
1) การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์
และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
2) การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน
และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ
3) การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
4) แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
5) ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์แบ่งได้เป็น
3 ขั้นใหญ่ ๆ คือ
- ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือ
ขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ
การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ
- ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้
และสามารถเรียนรู้จากภาพแทนของจริงได้
- ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้
6) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด
หรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
7) การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุด คือ
การให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)
ทฤษฎีพัฒนาการของโคลเบิร์ก

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก
ได้ศึกษาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชนอเมริกัน อายุ 10 -16 ปี และได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ (Levels) แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น (Stages) ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กมีทั้งหมด 6 ขั้น
ระดับที่
1 ระดับก่อนกฏเกณฑ์สังคม จะพบในเด็ก 2-10 ปี
โคลเบิร์กแบ่งขั้นพัฒนาการ ระดับนี้เป็น 2
ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ระดับจริยธรรมของผู้อื่น
ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า พฤติกรรมของตน “ถูก”
หรือ “ผิด” เป็นต้นว่า ถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ผิด” และจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งนั้นอีก
พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ถูก” และจะทำซ้ำอีกเพื่อหวังรางวัล
ขั้นที่ 2
ระดับจริยธรรมของผู้อื่น
ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ
เพื่อประโยชน์หรือความ
พอใจของตนเอง หรือทำดีเพราอยากได้ของตอบแทน หรือรางวัล พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง แต่มักจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เช่น
ประโยค “ถ้าเธอทำให้ฉัน ฉันจะให้.......”
ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม
จะพบในวัยรุ่นอายุ 10 -16 ปี
โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการ ระดับนี้เป็น 2 ขั้น
คือ
ขั้นที่ 3 การยอมรับของกลุ่มหรือสังคม
ใช้เหตุผลเลือกทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับโดยเฉพาะเพื่อน
เพื่อเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของเพื่อน
ไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี พบในวัยรุ่นอายุ 10 -15 ปี
ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ
การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อทำให้เขาพอใจ
ขั้นที่ 4
กฎและระเบียบของสังคม
จะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม
โดยปฏิบัติตามระเบียบของสังคมอย่างเคร่งครัด
เรียนรู้การเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม
ปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ในสังคม พบในอายุ 13 -16
ปี
ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหน้าที่ของสังคม
โดยบุคคลรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น จึงมีหน้าที่ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ
ที่สังคมกำหนดให้ หรือคาดหมายไว้
ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมอย่างมีวิจารณญาณ
เป็นหลักจริยธรรมของผู้มีอายุ 20
ปี ขึ้นไป
ผู้ทำหรือผู้แสดงพฤติกรรมได้พยายามที่จะตีความหมายของหลักการและมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยวิจารณญาณ
ก่อนที่จะยึดถือเป็นหลักของความประพฤติที่จะปฏิบัติตาม การตัดสินใจ
“ถูก” “ผิด”
“ไม่ควร” มาจากวิจารณญาณของตนเอง
โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการ ระดับนี้เป็น 2 ขั้น
คือ
ขั้นที่ 5
สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา
ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมควรที่จะปฏิบัติตาม โดยพิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของบุคคลก่อนที่จะใช้เป็นมาตรฐานทางจริยธรรม
ได้ใช้ความคิดและเหตุผลเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนผิดและสิ่งไหนถูก ในขั้นนี้การ
“ถูก” และ “ผิด” ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความคิดเห็นของบุคคลแต่ละบุคคล
ขั้นที่ 6
หลักการคุณธรรมสากล
ขั้นนี้เป็นหลักการมาตรฐานจริยธรรมสากล
เป็นหลักการเพื่อมนุษยธรรม
เพื่อความเสมอภาคในสิทธิมนุษยชนและเพื่อความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคน ในขั้นนี้สิ่งที่ “ถูก” และ “ผิด” เป็นสิ่งที่ขึ้นมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น